posttoday

ปรองดองหรือปองดอง

22 มกราคม 2560

ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป้าหมาย 60 ปี คนจำนวนหนึ่งอาจจะคิดว่าไม่นาน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่เชื่อใน “ชาตินี้-ชาติหน้า”

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป้าหมาย 60 ปี

คนจำนวนหนึ่งอาจจะคิดว่าไม่นาน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่เชื่อใน “ชาตินี้-ชาติหน้า” คือเชื่อว่า ชาติหน้าก็ยังรอได้ แต่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการติดต่อสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็ว และผู้คนในสังคมสมัยใหม่ที่มีความต้องการหลากหลายเร่งร้อน ยุทธศาสตร์และ เป้าหมายที่วางไว้ยาวๆ เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาอย่างมาก แม้แต่ในฝ่ายทหารเองก็อาจจะรอไม่ได้ ดังที่เคยมีความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต

ประเทศไทยถูกกำหนดให้วางยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมาตรการของธนาคารโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ควบคุม หากประเทศใดต้องการได้รับความช่วยเหลือเงินกู้และเงินช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาก็ต้องมีแผนในการที่จะใช้เงิน อันเป็นที่มาของการจัดทำงบประมาณในระบบแผนงานคู่กับแผนเงิน มีการตั้งกระทรวงพัฒนาการ (ที่ต่อมาถูกยุบไปเพราะงานซ้ำซ้อนกันหลายกระทรวง เหลือแค่หน่วยเลขานุการที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) รวมถึงการที่ต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2504 ที่ระยะแรกมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” มาก ทว่าในปัจจุบันตั้งแต่สมัยของอดีตนายกฯ คนดัง ก็นำแนวคิดการบริหารราชการด้วยยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาเสริม แต่ก็ได้กลายเป็นวิธีการบริหารหลักมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่แผนพัฒนาฯ แบบเดิมกลายเป็น “กระดาษปึกหนึ่ง”

ทหารเองก็ได้รับการศึกษามาในระบบแผนยุทธศาสตร์นี้เช่นกัน โดยเฉพาะที่มีการสอนกันในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) อีกทั้งทหารก็ได้มีส่วนในการควบคุมการบริหารราชการเรื่อยมา ในภาวะที่ประเทศเป็นเผด็จการ หรือมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จึงคุ้นเคยกับการ “วางยุทธศาสตร์” และมีประสบการณ์ในการบริหารแบบนี้มายาวนาน รวมถึงการเกิดขึ้นใน “วัฒนธรรมใหม่” ของกองทัพ ที่เกิดความรู้สึกว่าประเทศไทยจะขาดทหารไปเสียไม่ได้ รวมทั้งแนวคิดที่จะให้ทหารควบคุมกลไกในการปฏิรูปและปรองดองอย่างที่ คสช.ได้กำหนดขึ้นในขณะนี้ ที่มีแนวคิดว่าไม่มีใครนอกจากทหารที่จะ “เอาอยู่”

วัฒนธรรมและแนวคิดเกิดขึ้นมาอย่างที่หลายท่านอาจจะไม่สังเกต แต่ในทางวิชาการได้มีการศึกษาในเรื่องนี้มานานแล้ว พบว่าทหารตั้งแต่ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบเนื่องมาจนถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทหารได้ยึดกุมกลไกทางการเมืองที่สำคัญ คือรัฐสภาและระบบราชการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของเผด็จการทางตรงผ่านการรัฐประหาร และเผด็จการทางอ้อมในรูปแบบการแต่งตั้งโดยรัฐสภา

เช่นเดียวกันกับที่ได้มีวิกฤตทางการเมืองในปี 2549 และ 2557 ที่มีการเรียกร้องให้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ไว้อย่างเบ็ดเสร็จนั้นด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทหารไม่เพียงแต่เป็นอาชีพที่ปกป้องอธิปไตยของชาติเท่านั้น แต่ได้เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยนั้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ทหารจึงเกิดความรู้สึกของ “ความทะนงในศักดิ์ศรีและหน้าที่” ในขณะที่ประชาชนก็ให้การยอมรับ ทั้งที่ยอมรับด้วยการยอมสยบ และที่ยอมรับด้วยการเห็นความจำเป็น แม้จะมีลักษณะ “เฉพาะกิจ-เฉพาะคราว” แต่ก็ได้เพิ่มความทะนงฯ ดังกล่าวให้มากขึ้น

ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ทหารก็เชื่อว่า ไม่มีใครขึ้นมาท้าทายอำนาจเผด็จการนั้นได้ แต่ต้องถอยออกไปภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 แต่แล้วก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 ด้วยความวุ่นวายของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐบาลที่ทหารจัดตั้งนั้นคิดวางแผนที่จะให้มีโรดแมปสู่ความเป็นประชาธิปไตย 3 ขั้น ขั้นละ 4 ปี รวม 14 ปี ดูเหมือนทหารเองก็อดทนไม่ได้ จึงโค่นล้มรัฐบาลในความคุ้มครองของตนนั้นเสีย แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ให้ทหารได้ใช้อำนาจร่วมกับนักการเมือง ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ส่งเสริมให้การเมืองในยุคต่อมานั้นมีเสถียรภาพอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งนักการเมืองจากการเลือกตั้งไปขัดแย้งกับกองทัพ จนทหารต้องออกมาทำรัฐประหารในวันที่ 23 ก.พ. 2534 แต่เมื่อทหารคิดจะสืบทอดอำนาจผ่านระบบรัฐสภาไปอีกไม่มีกำหนด ก็ถูกกระบวนการประชาชนที่นำโดยนายทหารนอกกองทัพ (แต่ไปมีอำนาจอยู่ในสภา) เข้าขัดขวางในเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา ดังที่ปรากฏรูปธรรมเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น

ขอย้อนไปในสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีกสักเล็กน้อย ที่ได้อาศัยรัฐธรรมนูญปี 2521 ประคับประคองให้อยู่ได้กว่า 8 ปี แต่กระนั้นในช่วงปีท้ายๆ คือ ปี 2529 ก็เกิดกระบวนการ “เบื่อป๋า” ส่วนหนึ่งคือกระแสสังคมที่เห็นว่า ความเข้มแข็งของระบบรัฐสภาที่มีทหารคอยปกป้องคุ้มครองนี้ไม่ได้สร้างเสริมให้เกิด สิ่งใหม่ใดๆ ขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะในทางการเมือง แม้ว่าในทางเศรษฐกิจจะมีความ “โชติช่วงชัชวาล” พอสมควร และสังคมก็มีความสงบเรียบร้อยอยู่ดีกินดีมากขึ้น แต่ในทางการเมืองกลับไม่พัฒนา (คล้ายๆ กันกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็เกิดกระแสต้านเพราะไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้จอมพลถนอมต้องมารับเคราะห์กรรมแทน) นั่นก็คือมีกลุ่มนักวิชาการที่ชื่อว่า “กลุ่มฎีกา 99” ขอร้องให้ พล.อ.เปรม พิจารณาไม่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป ที่สุดในการเลือกตั้งปี 2530 พล.อ.เปรม ก็ประกาศวาทะอมตะ “ป๋าพอแล้ว” ด้วยการยอมรับความจริงที่จะต้องมอบบทบาทให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแท้ๆ รับผิดชอบบ้านเมืองต่อไป

ผู้เขียนไม่กล้าที่จะพยากรณ์ว่า คสช.จะประสบชะตากรรมดังกล่าวหรือไม่ แต่ทฤษฎี “กงล้อประวัติศาสตร์” สอนให้เชื่อว่า อาจจะเป็นไปได้และตามทฤษฎีจิตวิทยาสังคม ท่านว่าการให้ความหวังอะไรกับสังคมที่ใช้เวลานานมากนั้น เหมือนกับชี้ว่าสังคมนั้นไม่มีความหวังอะไรเสียเลย เพราะถ้าหากทหารเด็ดขาดและเข้มแข็งจริง ปัญหาที่มีผู้ศึกษาไว้อย่าง “สำเร็จรูป” แล้วนี้ ไม่น่าจะต้องใช้เวลาจัดการ “แสนนาน” เช่นนั้น

หรือว่าประชาธิปไตยของเราอาจต้องใช้เวลา “หมักบ่ม” ไปอีกยาวนาน