ดีอีเอส เผย PDPA พลเมืองดี ถ่ายคลิปได้ แต่อย่าแชร์มั่ว
รมว.ดีอีเอส เผย กฎหมาย PDPA พลเมืองดี ถ่ายคลิปได้ เเนะอย่าเเชร์มั่ว ควรส่งให้ตำรวจ ไม่ควรลงโซเชียล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม(ดีอีเอส) เปิดเผยถึง กรณีที่ประชาชนอาจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เกรงว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น พบว่า หนึ่งในข้อกังวล กรณีพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติแล้วถ่ายภาพหรือคลิปเป็นเป็นหลักฐานจะทำได้หรือไม่ ในกรณีนี้ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือ โพสต์ด้วยตนเอง โดยควรส่งหลักฐานเหล่านั้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
“การที่เราเอาภาพที่ไม่เหมาะสม เอาคลิปที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมมาโพสต์ หรือมาแชร์เอง ก็อาจจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะเขาเป็นผู้เสียหายจากสิ่งที่ท่านทำ แต่ถ้าเก็บคลิป แล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในทางรูปคดีอันนี้ทำได้อยู่แล้ว” ชัยวุฒิกล่าว และว่ากฎหมาย PDPA มุ่งที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลของพี่น้องประชาชนที่เคยให้กับร้านค้า หน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานเหล่านั้น ต้องเก็บข้อมูลของประชาชนให้ดี ไม่ให้รั่วไหล ถ้าจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล และห้ามนำไปใช้ทำให้พี่น้องประชาชน หรือเจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นี่คือหลักการสำคัญของกฎหมาย แต่เรื่องการโพสต์ การแชร์ การให้ข่าวต่างๆ ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ เพียงแต่อาจจะไปผิดกฎหมายอื่น เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลมีการฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายกันอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง อยากให้มองว่าเจตนารมณ์ของ PDPA คุ้มครองข้อมูลของเราที่เก็บไว้ในร้านค้าหรือองค์กรต่างๆไม่ให้รั่วไหลนี่คือหัวใจสำคัญ
“ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสำคัญของตัวท่านเอง เวลาท่านให้ข้อมูลกับบุคคล ร้านค้า หรือหน่วยงานต่างๆท่านมีสิทธิที่จะไม่ยินยอมให้นำข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล ร้านค้าหรือหน่วยงานไม่มีสิทธินำข้อมูลไปเปิดเผย หากนำไปเปิดเผยจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA ประชาชนควรติดตามหากมีใครนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ท่านให้ไว้ไปใช้ หรือนำไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเราสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมายPDPA” รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าว
นับเป็นอีก ภารกิจที่สำคัญของกระทรวงฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคน สคส. ต้องเร่งขับเคลื่อนก็คือ พยายามประสานงานกับภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้มีการเก็บข้อมูล ให้มีมาตรฐานให้มีระบบที่ดี ไม่ให้มีข้อมูลรั่วไหล ข้อมูลที่ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ประชาชนก็มีสิทธิในข้อมูลของตัวเอง ดังนั้นต้องคอยติดตามว่าข้อมูลนี้ ใครนำไปใช้ในทางไม่ชอบหรือไม่ ถ้าพบก็แจ้งร้องเรียนมาทางสำนักงาน สคส. เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลของตัวเอง