ภาษีพลาสติกในสหราชอาณาจักรและสเปน: บทเรียนและผลกระทบ
หนึ่งในความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก คือ การออกกฎหมายจัดเก็บ “ภาษีพลาสติก” ซึ่งจะช่วยลดความต้องการใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) ในตลาด
หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมจ่ายเงินภาษีพลาสติกเป็นเงินสมทบ (Plastics Contribution) เพื่อระดมทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิดตั้งแต่ปีค.ศ. 2021 จนถึงปีค.ศ. 2027 ตอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปเริ่มทยอยออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีพลาสติกกันแล้ว ได้แก่ สหราชอาณาจักร (UK) ตามมาด้วยสเปน ในขณะที่อิตาลีที่ประกาศจะเก็บภาษีเช่นเดียวกันเพิ่งประกาศเลื่อนแผนการจัดเก็บออกไป
สำหรับสหราชอาณาจักร รัฐบาลได้เริ่มจัดเก็บภาษีบรรจุภันฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) ภายใต้ Finance Bill 2021 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2022 เป็นต้นมา โดยจะเก็บภาษีในอัตรา 200 ปอนด์ (ประมาณ 8,500 บาท) ต่อตันจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 10 ตันต่อปี หากบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นมีสัดส่วนพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่า 30% กรณีของสเปน การจัดเก็บภาษีค่อนข้างเข้มงวดกว่าของสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลสเปนได้ประกาศเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ (Non-reusable plastic packaging tax) ผ่านการออกกฎระเบียบ Law 7/2022 ภายใต้กฎหมาย Waste and Contaminated Soil for a Circular Economyกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะต้องเสียภาษีในอัตรา 450 ยูโร (ประมาณ 17,000 บาท) ต่อตัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 เป็นต้นมา
ทั้งสองประเทศได้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษีพลาสติก โดยอังกฤษได้ยกเว้นภาษีให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้และบรรจุภัณฑ์สำหรับทางการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ผ้่าอ้อม ถุงรองรับปัสสาวะที่ใช้ซ้ำได้ ไซริงค์ฉีดยา ขวดใส่สารตัวอย่างที่ใช้ในห้องแล็บ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนในสเปน ได้มีข้อยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงสินค้าที่จะถูกกำจัดไปพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้แล้ว เช่น น้ำหอมปรับอากาศ แคปซูลกาแฟ และถุงที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ถุงขยะ ถุงซิลิกาเจล หรือถุงชา เป็นต้น
หลายฝ่ายต่างแสดงข้อห่วงกังวลต่อมาตรการภาษีของสหราชอาณาจักรและสเปน สรุปได้ดังนี้
1. ปริมาณพลาสติกรีไซเคิลในปัจจุบันมีเพียงพอหรือไม่
อุตสาหกรรมการผลิตและรีไซเคิลพลาสติกในสหราชอาณาจักรจะต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จากการศึกษาขององค์กรไม่แสวงกำไรที่เชี่ยวชาญเรื่องขยะพลาสติก “RECOUP” ในปีค.ศ. 2020 พบว่า ความสามารถในการรีไซเคิลพลาสติกในสหราชอาณาจักรจะต้องเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการมีผลบังคับใช้ภาษีพลาสติก
2. ความฉ้อฉลที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ราคาพลาสติกรีไซเคิลจะเพิ่มสูงขึ้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการรับรอง (certification) การใช้พลาสติกรีไซเคิลเพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การใช้พลาสติกรีไซเคิลในกระบวนการผลิต ควรเพิ่มวิธีการตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ นอกเหนือจากมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปอย่าง EN 15343
3. ผลต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติก
มีการประเมินว่าผู้ผลิตจะปรับเปลี่ยนการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกในสหราชอาณาจักรเพื่อให้มีสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิลให้ได้ 30% ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด จากปัจจัยแรงกดดันด้านราคาและการขาดแคลนวัสดุรีไซเคิล ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าผู้ผลิตจะเพิ่มสัดส่วนของพลาสติกรีไซเคิลให้สูงที่สุดเพื่อลดฐานภาษีลงให้ต่ำที่สุดในสเปน
4. แนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่น
ภาษีพลาสติกอาจกระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาระทางภาษีหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ PET (Polyethylene Terephthalate) ยังคงเป็นวัสดุที่ได้เปรียบในบรรดาบรรจุภัณฑ์พลาสติกเนื่องจากเป็นโพลิเมอร์ชนิดเดียวที่มีการนำมารีไซเคิลและได้รับการอนุมัติจาก EFSA (The European Food Safety Authority) ให้ใช้บรรจุอาหารได้ ตลาดยุโรปจึงกำลังเริ่มมองหาวัสดุทดแทนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลาสติกโดยจำเป็นต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
5. การใช้วัสดุทางเลือกอาจส่งผลกระทบต่อการเก็บรักษาอาหาร
ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาวัสดุทางเลือกที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในการถนอมอาหารเทียบเท่าพลาสติก เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ความพยายามลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยวัสดุทดแทนอื่น อาจก่อให้เกิดปัญหาขยะอาหารมากขึ้น รวมถึงความสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเหล่านั้นด้วย ผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจข้อจำกัดของการใช้วัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติกด้วย
6. โครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลยังไม่พร้อม
หนึ่งในข้อสรุปสำคัญจากการศึกษาโดย RECOUP ในปี 2020 พบว่าสหราชอาณาจักรต้องเพิ่มศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลพลาสติกมากขึ้นถึงสองเท่า รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในการรวบรวมและคัดแยกขยะ เพื่อให้ได้วัสดุเพียงพอกับความต้องการในการใช้พลาสติกรีไซเคิล 30% สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ต้องถูกเก็บภาษี จึงมีการคาดการณ์ว่า กว่าจะถึงวันที่โครงสร้างเหล่านี้มีความพร้อม ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในสหราชอาณาจักรอาจทำการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศเพื่อจัดหาวัสดุให้ได้เพียงพอซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศที่มีไม่เพียงพออยู่แล้ว
7. ความกระตือรือร้นในการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลพลาสติก
เงินที่เก็บได้จากภาษีของชาวอังกฤษจะไม่ถูกอัดฉีดกลับเข้าไปในการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลพลาสติก แต่สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากหน่วยงานภายใต้กลไก EPR กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม EPR ที่สะท้อนความยากง่ายในการรีไซเคิลและสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลตามหลักการ Eco-modulation
แม้ภาษีพลาสติกจะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องลดการใช้พลาสติกใหม่ลง เพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่ต้นทาง แต่อาจส่งผลกระทบทางลบได้ หากรัฐบาลมิได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบเพียงพอหรือจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้ให้พอเพียง เป็นที่น่าจับตามองว่าทั้งสองประเทศจะมีวิธีการปรับตัวและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ในอีกด้านหนึ่ง หากทำสำเร็จ สหราชอาณาจักรและสเปนอาจจะเป็นต้วอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้ดำเนินการบ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะตื่นตัวและเริ่มทบทวนการใช้บรรจุภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ของตนโดยเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลให้มากขึ้นหรือออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยประหยัดต้นทุนของการทำธุรกิจด้วย
ผู้เขียน: ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะปฏิรูประบบการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (ระยะที่ 2) ภายใต้แผนงานสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดการขยะมูลฝอยและ ของเสียอันตรายซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มาของข้อมูล:
• https://www.ecosistant.eu/en/plastic-tax-in-spain-2023/
• https://www.gov.uk/government/publications/introduction-of-plastic-packaging-tax-from-april-2022/introduction-of-plastic-packaging-tax-2021
• https://ecosensefoundation.org/en/united-kingdom-spain-and-the-plastic-packaging-tax/?gclid=Cj0KCQiAxbefBhDfARIsAL4XLRpxiyIvCwQMeHwY-k3P7DQsvWgtJmlEAd1hukN8TBgwlsQwo0QzleQaAqXBEALw_wcB