posttoday

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

01 กุมภาพันธ์ 2567

“รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3” คันแรกของไทย วิ่งให้บริการฟรี ใช้งานผ่านแอปฯ รอบอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา กสทช.ให้ทุน มจธ .27 ล้าน ทำวิจัยร่วมกับ TKC - เจ็นเซิฟ พัฒนา 2 ปีสำเร็จ หวังให้เป็นต้นแบบช่วยกระตุ้นยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในอนาคต

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี  รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

 

โครงการนี้ดำเนินการ โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยได้เริ่มเปิดการสาธิตใช้งานรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยี 5G บริเวณรอบบึงพระราม 

 

นอกเหนือจากการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเข้ามาของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะมาแทนรถยนต์สันดาปภายในในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าแล้ว  อีกความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก็คือการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคของ “ยานยนต์เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ” (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ยานยนต์อัตโนมัติ” ที่ตัวยานยนต์จะมีระบบอัตโนมัติในการขับขี่และสามารถสื่อสารกับยานยนต์คันอื่นได้ เหมือนเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

 

"ยานยนต์อัตโนมัติระดับ 3" ยังต้องมีคนควบคุมอยู่

มีการกำหนดระดับขั้นของการพัฒนาระบบอัตโนมัติของยานยนต์ไว้ 5 ระดับ ตั้งแต่ในระดับที่มีระบบช่วยเหลือการขับขี่บางส่วน เช่น Cruise control (Level 1) ไปจนถึงระบบที่รถยนต์ทำงานอย่างอิสระเต็มรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับ (Level 5) ส่วนระดับที่ยังต้องมีคนคอยควบคุมอยู่คือระดับ 1-3

และหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวทันต่อการปรับตัวสู่ยุคยานยนต์ไร้คนขับ ที่จะมาถึงในอนาคอันใกล้คือ การสร้างหรือต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนา “ยานยนต์เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ”  

จึงเป็นที่มาของ “โครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตโบราณสถาน” ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (TKC) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน (พ.ย. 65 - ก.ค. 67)

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

 

การสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ระดับ 3 ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันผ่านเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณรอบบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100% เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในระดับที่สูงขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่การใช้งานอื่นในอนาคตต่อไป

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

 

การให้บริการ

ทางโครงการจะให้บริการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างวันศุกร์ ถึง วันอังคาร เวลา 09.00 – 17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถจองที่นั่งผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ “5G Auto Bus” และขึ้นรถได้จากจุดจอดทั้ง 4 จุด ได้แก่ 

1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา

2. วัดมหาธาตุ

3. วัดธรรมิกราช และ

4. วัดพระราม

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย

 

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100%

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะ หัวหน้าโครงการฯ  กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ต้นแบบคันนี้ ประกอบด้วยการวิจัยพัฒนาในหลายส่วน ทั้งการพัฒนาและติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปในรถบัสไฟฟ้าซึ่งถูกผลิตในประเทศไทย การพัฒนาระบบควบคุมรถจากข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซนเซอร์ ได้แก่ ไลดาร์ จำนวน 6 ตัว และ เรดาห์ จำนวน 1 ตัว การทำแผนที่ความละเอียดสูงในเส้นทางวิ่งที่กำหนด และการเขียนโปรแกรมในการควบคุมและสั่งการรถบัส โดยรถบัสมีความสามารถการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ซึ่งจะขับเคลื่อนได้เองตามเส้นทางวิ่งที่กำหนดไว้แต่ยังมีความจำเป็นต้องมีพนักงานขับขี่นั่งอยู่หลังพ่วงมาลัยเพื่อความปลอดภัยและการตัดสินใจในบางสถานการณ์ รวมไปถึงการจัดทำระบบสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย 5G ที่จะทำให้รถสามารถสื่อสารกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จองที่นั่งผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งใน มจธ. และกับภาคีภายนอก นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกที่พัฒนาจากหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนไทยทั้งสิ้น

 

เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ หรือไลดาร์  (Light Detection and Ranging System – LiDAR) และเรดาร์ บริเวณหน้ารถ

 

ในส่วนของการออกแบบระบบเซนเซอร์บนรถนั้น จะมีเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ หรือไลดาร์  (Light Detection and Ranging System – LiDAR) ที่สามารถตรวจจับวัตถุในระยะไกลสุด 100 เมตร จำนวน 4 ตัว และตรวจจับวัตถุที่ระยะไกลสุด 200 เมตรอีก 2 ตัว ทำงานร่วมกับเซนเซอร์เรดาห์ 1 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้ารถเพื่อเพิ่มเติมการตรวจจับวัตถุในระยะไกล โดยทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูล ณ เวลาและตำแหน่งปัจจุบัน ที่จะถูกนำไปประมวลผลร่วมกับแผนที่ความละเอียดสูงที่อยู่ในฐานข้อมูล เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติทำการตัดสินใจและสั่งการบังคับรถผ่านระบบ Drive by wire ในแต่ละฟังก์ชันต่อไป

 

สำหรับการชาร์จรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันนี้ ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงขนาดกำลังไฟ 40 kW รวมทั้งเป็นพื้นที่จอดรถระหว่างการทดลองวิ่งให้บริการด้วย

 

ไลดาร์  (Light Detection and Ranging System – LiDAR) 1 ใน 6 ตัวที่ติดอยู่ด้านข้างตัวรถ

 

ความพิเศษของรถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3 ต้นแบบ

ก็คือ การนำเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย โดย ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายโทรคมนาคมจาก บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รองหัวโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า ได้นำระบบ 5G มาผสานกับเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็น “ต้นแบบ” ของเทคโนโลยี C-V2X  (Cellular Vehicle-to-Everything)  ซึ่งเป็นระบบสื่อสารที่นำโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็นพื้นฐานให้รถคันนี้สื่อสารกับสิ่งที่ต้องการเชื่อมต่อได้ ดังนั้น การสื่อสารผ่านเครือข่าย 5G กับแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเรียกรถและจองที่นั่ง รวมทั้งดูตำแหน่งปัจจุบัน และเวลาที่รถจะมาถึงได้อีกด้วย 

 

“สำหรับโครงการนี้จะเป็นการสื่อสารแบบ C-V2N คือ Cellular Vehicle-to-Network คือทำให้รถสามารถรับส่งข้อมูลผ่านระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับ ศูนย์ข้อมูล (Data center)  ได้  ซึ่งในเบื้องต้น เราได้ทำเป็นแอปพลิเคชันบนป้ายจุดจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียกให้รถมารับที่จุดจอดที่กำหนด ระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อยานยนต์กับการใช้งานด้านอื่นอีกมากมายในอนาคต ได้แก่ การเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ การเชื่อมต่อกับคนเดินเท้าหรือยานยนต์คันอื่น รวมถึงป้ายสัญญาณไฟจราจร ตลอดจนการรายงานอุบัติเหตุบนเส้นทาง ที่ทำให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น”

 

อว.เปิดสาธิตใช้งาน “รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3”คันแรกของไทย