posttoday

ภูเก็ต จ่อดัน 'ประเพณีถือศีลกินผัก' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน

07 ตุลาคม 2567

'ภูเก็ต' จ่อดัน 'ประเพณีถือศีลกินผัก' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศในอาเซียน ด้านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเผย 'ภูเก็ต' คือจุดเริ่มต้นของ 'ประเพณีถือศีลกินผัก' ในแหลมมลายู และเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงมีประเพณีดังกล่าว ชี้เข้าสู่ 'ยุคทอง' ของประเพณี

ดร.ศุภชัย แจ้งใจ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการส่ง 'ประเพณีถือศีลกินผัก' เข้าชิงรางวัล 'เทศกาลโลก' จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และสามารถคว้ารางวัลสูงสุด “Grand Pinnacle” ได้เป็นผลสำเร็จ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า

 

ภูเก็ต จ่อดัน \'ประเพณีถือศีลกินผัก\' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน

 

หลังจากที่คว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ได้สำเร็จ ซึ่งเปรียบเหมือนรางวัลออสการ์ ในสาขาเทศกาลระดับโลกได้ ขั้นต่อไป ทางกระทรวงวัฒนธรรมและกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับเรื่องแล้ว และพร้อมจะส่งประเพณี 'ถือศีลกินผัก' ขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของทาง UNESCO โดยความพิเศษของการขอขึ้นทะเบียนครั้งนี้คือเป็นการขอขึ้นทะเบียนของ 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไหน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย และประเทศไทย 

สำหรับความสำคัญของ 'ประเพณีถือศีลกินผัก' ของภูเก็ตนั้น หากเทียบกับวัฒนธรรมบะบ๋าอื่น เช่น อาหาร ตึกชิโนยูโรเปียน หรือเครื่องแต่งกายเคบายา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นของภูเก็ต จะพบว่า 'ประเพณีถือศีลกินผัก' เป็นสิ่งเดียวที่มี 'ภูเก็ต' เป็นจุดศูนย์กลางก่อนที่จะเผยแผ่ไปยังประเทศอื่นในแถบนี้ ตรงข้ามกับสิ่งอื่นที่ส่วนมากรับมาจากปีนัง 

 

ภูเก็ต จ่อดัน \'ประเพณีถือศีลกินผัก\' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน

 

นอกจากนี้ ในหนังสือของสมาคมเต้าโบเก้ง กิ่วอ่องไต่เต่ ที่ประเทศมาเลเซีย ได้ระบุว่า 'ศาลเจ้ากระทู้' เป็นศาลเจ้าที่เป็นต้นกำเนิดของ 'ประเพณีถือศีลกินผัก' โดยมีทั้งวัตถุพยานและยังมีศาลเจ้าที่อันปัง ที่กัวลาลัมเปอร์ และศาลเจ้าไท่ผิง ที่อิโป มาเลเซีย ได้มีการระบุว่ามีการเชิญ 'ดวงไฟศักดิ์สิทธิ' ที่ศาลเจ้ากระทู้  ซึ่งทำให้รู้ว่าประเพณีเก่าแก่ และเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกมองข้าม แม้ว่าถิ่นกำเนิดของประเพณีจะอยู่ที่ประเทศจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิงในช่วง 400 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันไม่มีพิธีกรรมดังกล่าวแล้วในประเทศจีน แต่ประเพณีกลับเจริญรุ่งเรืองในบริเวณคาบสมุทรมลายูโดยมีภูเก็ตเป็นศูนย์กลางแทน เทียบเคียงได้กับศาสนาพุทธ ที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียแต่กลับมาเจริญงอกงามที่สุวรรณภูมิและขยายไปทั่วโลก

 

ภูเก็ต จ่อดัน \'ประเพณีถือศีลกินผัก\' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน

 

  • ดวงไฟศักดิ์สิทธิ์ จุดที่แสดงให้เห็นว่า 'ถือศีลกินผัก' เชื่อมโยงกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ

อาจารย์ศุภชัยได้อธิบายว่า  'ดวงไฟศักดิ์สิทธิ' จาก 'ศาลเจ้ากระทู้' ที่ถูกอัญเชิญนั้นมาจากความเชื่อที่ว่า 'เต้าโบเก้ง'  โดย เก้ง แปลว่า วัง , โบ คือ แม่ และ เต้า แปลว่าดวงดาว มาจากความเชื่อของเต๋าที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้นคือ ทฤษฎีบิ๊กแบง หรือการระเบิดของดวงดาว โดยชาวจีนเชื่อว่าจะต้องขอพรจากดวงดาว โดยเฉพาะดาวเหนือ ซึ่งคำว่าดวงไฟศักดิ์สิทธิ์นั้นก็มาจากความเชื่อดังกล่าวนี้เอง

 

สำหรับ 'ศาลเจ้ากระทู้'  เป็นศาลเจ้าที่อยู่คู่กับภูเก็ตมายาวนาน และคนภูเก็ตนิยมเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ว่า "อ๊ามกะทู้" หรือ "ฉายตึ้ง" ("อ๊าม" เป็นคำที่ชาวภูเก็ตใช้เรียกแทนคำว่าศาลเจ้า) ตำนานศาลเจ้าแห่งกะทู้ ว่ากันว่าในสมัยอดีต บริเวณที่ตั้งศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในแร่ธาตุดีบุก จึงเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดให้ชาวจีนพากันหลั่งไหลเข้ามา และนำเอาวัฒนธรรม ความเชื่อ และการนับถือเทพเจ้าและบรรพชนเข้ามาด้วย

ต่อมาได้มีคณะงิ้วเดินทางจากเมืองจีนเพื่อมาเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ และพบว่าล้มป่วยกะทันหัน  ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะคณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย”  หรือ “พิธีถือศีลกินผัก”  ต่อมา คณะงิ้วตัดสินใจทำพิธีถือศีลกินผักอย่างเรียบง่าย เพื่อขอขมาและบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาธิราชแห่งดวงดาวต่าง ๆ ทั้ง 9 องค์ พร้อมกับงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และสุรา เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่   1 - 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ผลปรากฏว่า หลังทำพิธีเสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พิธีนี้แพร่หลายไปทั่วเมืองและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา กลายเป็นประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะมีอายุกว่า 200 ปี

 

ภูเก็ต จ่อดัน \'ประเพณีถือศีลกินผัก\' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน

 

  • ยุคทองของ 'ประเพณีถือศีลกินผัก'

อาจารย์ศุภชัย แจ้งใจ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเพณีถือศีลกินผักถือว่าได้เข้าสู่ยุคทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการจะเข้าสู่ยุคทองนั้นต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ หนึ่งต้องรวมตัวกันให้ได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีสมาคมอ๊าม หรือสมาคมศาลเจ้าจัดตั้งขึ้นซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่มี นอกจากนี้สมาคมที่จัดตั้งขึ้นมาถือเป็นองค์ประกอบที่สองคือ มีนวัตกรรม หลังจากนั้นกิจการการค้าเจริญรุ่งเรือง คือองค์ประกอบที่สาม และส่งผลให้เกิดอิมแพ็ค หรือผลกระทบในระดับนานาชาติ โดยการได้รับรางวัลล่าสุดนี้ทำให้ 'ประเพณีถือศีลกินผัก' ทำให้ครบ 4 องค์ประกอบดังกล่าว

' ในประวัติศาสตร์เมื่อไปถึงจุดพีคยุคทองอย่างราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถัง ยุคทองจะค่อยๆ ล่มสลายครับ แต่อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ว่า ณ เวลานั้นได้ไปถึงยุคทองเรียบร้อยแล้ว เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันครับ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ไปถึงมรดกโลกนะครับ แล้วพอได้มรดกโลกก็มีความสําคัญขึ้นมา หน่วยงานต่างๆ ก็จะให้เห็นความสําคัญ และร่วมกันสนับสนุนต่อไป'

 

ภูเก็ต จ่อดัน \'ประเพณีถือศีลกินผัก\' ขึ้นทะเบียน UNESCO ร่วม 4 ประเทศอาเซียน