posttoday

วิจัย TDRI เผย “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” เป็นกลุ่มอาชีพไอที ที่ตลาดแรงงานต้องการ

26 มิถุนายน 2567

วิจัย TDRI เผย “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” เป็นกลุ่มอาชีพไอที ที่นายจ้างประกาศหาคนทำงานมากที่สุด ขณะที่ประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่ กระจุกในกทม.และปริมณฑลกว่าแสนตำแหน่ง

ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ  โดยใช้ Big Data และข้อมูลประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่จัดเก็บได้ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม พ.ศ 2567 ถึงวันที่  31 มีนาคม พ.ศ 2567 จากเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 15  เว็บไซต์

10 อาชีพกลุ่มไอที ที่มีประกาศหางานมากที่สุด

เมื่อจำแนกข้อมูลตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพไอทีจำนวนทั้งสิ้น 5,893 ตำแหน่งงาน พบ 10 กลุ่มอาชีพไอทีที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้

1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 1,246 ตำแหน่งงาน (18.4%)

2.  นักพัฒนาเว็บ 788 ตำแหน่งงาน (11.6%)

3. นักออกแบบเว็บและอินเทอร์เฟซดิจิทัล 669 ตำแหน่งงาน (9.9%)

4. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ 661 ตำแหน่งงาน (9.7%)

5. เจ้าหน้าที่สนับสนุนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 653 ตำแหน่งงาน (9.6%)

6. โปรแกรมเมอร์ 622 ตำแหน่งงาน  (9.2%)

7. นักวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ 574 ตำแหน่งงาน (8.5%)

8. ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล 271 ตำแหน่งงาน (4.0%)

9. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยสารสนเทศ 243  (3.6%)

10. นักสถาปัตยกรรมเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 166 ตำแหน่งงาน (2.4%)

ทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงสุด 

ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ประกาศหางาน โดยวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน ผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า 3 ทักษะอันดับแรกมีความต้องการมากที่สุดในประกาศรับ ได้แก่ทักษะ “ภาษาอังกฤษ” “การสื่อสาร” และ “การแก้ปัญหา” โดยภาษาอังกฤษปรากฏในประกาศรับสมัครงานจำนวน 27,826 ตำแหน่งงาน (19.9%) ตามมาด้วยทักษะในการสื่อสารที่พบในประกาศรับสมัครงาน 21,556 ตำแหน่งงาน (15.4%)  และทักษะในการแก้ปัญหา 19,518 ตำแหน่งงาน (14.0%)

 

ประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนมากที่สุด กว่าแสนตำแหน่ง

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการในประกาศ พบว่าในประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ผู้วิจัยได้รวบรวมไว้นั้น เป็นประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด

โดยมีจำนวนการว่าจ้างถึง 109,558 ตำแหน่งงาน (78.5%) ตามด้วยภาคใต้ 8,003 ตำแหน่งงาน (5.7%) ภาคตะวันออก 6,472 ตำแหน่งงาน (4.6%) ภาคเหนือ 3,945 ตำแหน่งงาน (2.8%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,845 ตำแหน่งงาน (2.8%) ภาคกลาง 3,302 ตำแหน่งงาน (2.4%)  และภาคตะวันตก 832 ตำแหน่งงาน (0.6%) ขณะที่การรับสมัครงานที่ไม่สามารถไม่ระบุสถานที่ทำงานได้ 3,616 ตำแหน่งงาน (2.6%)

จำนวนประกาศรับสมัครงานในแต่ละประเภทธุรกิจ

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมโดยใช้ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  อ้างอิงกับประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC) พบว่าเป็นประกาศรับสมัครงานในอุตสาหกรรมดังนี้

กลุ่มอุตสาหกรรมการขายส่งและการขายปลีก 22,015 ตำแหน่งงาน (15.8%)

กลุ่มอุตสาหกรรมการการผลิต 16,029  ตำแหน่งงาน (11.5%)

กลุ่มอุตสาหกรรมการกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 7,313 ตำแหน่งงาน (5.2%) 

 

10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพตามการจำแนกจากฐานข้อมูลอาชีพของสหรัฐอเมริกา ( O*NET) พบว่ามี 10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้

1. พนักงานขาย 14,163 ตำแหน่งงาน (10.1%)

2. งานสนับสนุนทางการบริหาร 12,558 ตำแหน่งงาน (9.0%)

3. การสนับสนุนข้อมูลและบริการ 7,013 ตำแหน่งงาน (5.0%)

4. วิศวกรรมและเทคโนโลยี 6,858 ตำแหน่งงาน (4.9%)

5. งานด้านการตลาด 6,154 ตำแหน่งงาน (4.4%)

6. ผู้จัดการดำเนินการ 5,331  ตำแหน่งงาน (3.8%)

7. งานบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม 4,813 ตำแหน่งงาน (3.4%)

8. การบัญชี 4,342 ตำแหน่งงาน (3.1%)

9. ทรัพยากรบุคคล 3,902 ตำแหน่งงาน (2.8%)

10. การออกแบบ / การเตรียมงานก่อสร้าง 3,618  ตำแหน่งงาน (2.6%)