posttoday

นิวยอร์กเริ่มใช้ ปูนซีเมนต์โลว์คาร์บอนไร้มลพิษ

28 ตุลาคม 2567

หินปูน เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์และก่อคอนกรีต แต่ก็เป็นต้นตอการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง นี่เป็นเหตุผลในการพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ที่มีวัสดุหลักจากหินแกรนิต

คอนกรีต นับเป็นวัสดุที่ถูกใช้ในการสร้างอาคาร บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป จากคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน แต่การผลิตปูนซีเมนต์ที่ถือเป็นวัสดุหลักของคอนกรีตมีการปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

           แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการพัฒนาคอนกรีตรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักที่ใช้มาเป็นหินแกรนิต

 

นิวยอร์กเริ่มใช้ ปูนซีเมนต์โลว์คาร์บอนไร้มลพิษ

 

คอนกรีตที่มีวัตถุดิบหลักเป็นหินแกรนิต

 

           ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากบริษัท C-Crete Technologies กับการคิดค้นพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ที่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักในการผลิตจาก หินปูน มาเป็น หินแกรนิต เปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุหลักที่ใช้งานและกรรมวิธีการผลิต สู่คอนกรีตชนิดใหม่ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกต่อไป

 

           ตามปกติวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์สำหรับก่อสร้างจะเป็น หินปูน โดยการบดหินปูนเหล่านี้ให้เป็นผง นำไปผสมเข้าวัสดุหลายชนิด เช่น ดินเหนียว ซิลิกา เหล็ก ฯลฯ นำไปผ่านความร้อน 1,450 องศาเซลเซียส จะออกมาเป็นปูนซีเมนต์ที่พร้อมใช้งานในการก่อสร้าง

 

           ปูนซีเมนต์หินแกรนิตก็มีกลไกในการผลิตใกล้เคียงกัน เริ่มจากการนำหินแกรนิตทั่วไปมาบดให้ละเอียดจนเป็นผง ผสมเข้ากับวัสดุชนิดอื่นพร้อมผ่านกรรมวิธีเฉพาะของทางบริษัท จากนั้นหินแกรนิตจะแปรสภาพเป็นผงปูนตามปกติ เพียงนำไปผสมน้ำก็สามารถนำไปใช้งานได้เหมือนปูนซีเมนต์ทั่วไป

 

           ข้อมูลจากการทดสอบใช้งานพบว่า ปูนซีเมนต์หินแกรนิตมีความละเอียด การซึมผ่านน้ำ ระยะเวลาในการเซ็ตตัว ไปจนพื้นผิวหลังแห้งใกล้เคียงกับคอนกรีตที่ปกติ ในส่วนความทนทานและคุณสมบัติเชิงกล ปูนซีเมนต์ผ่านมาตรฐาน ASTM หรือ สมาคมทดสอบวัสดุแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยแบบเดียวกับปูนตามท้องตลาด

 

           นั่นทำให้ปูนซีเมนต์จากหินแกรนิตนี้มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากปูนซีเมนต์จากหินปูนเลย

 

นิวยอร์กเริ่มใช้ ปูนซีเมนต์โลว์คาร์บอนไร้มลพิษ

 

สู่อนาคตแห่งการก่อสร้างไร้มลพิษ

 

           จากข้อมูลที่เห็นข้างต้นหลายท่านคงได้เห็นว่าปูนซีเมนต์นี้ไม่ได้แตกต่างจากที่ใช้งานตามท้องตลาด ส่วนที่แตกต่างมีเพียงวัตถุดิบหลักในการผลิตที่เปลี่ยนจากหินปูนมาเป็นหินแกรนิตเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากปูนซีเมนต์คืออีกหนึ่งสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

 

           กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ต้องนำหินปูนไปผ่านความร้อนสูง ขั้นตอนนี้เองหินปูนที่ถูกแปรรูปจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ในโมเลกุล ส่งผลให้การผลิตปูนซีเมนต์มีการปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นจำนวนมาก หรือคิดเป็นกว่า 5 – 8% จากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์

 

           นอกจากนี้การผลิตปูนซีเมนต์ยังต้องอาศัยความร้อนหลักพันองศา ในการสร้างความร้อนสูงต้องอาศัยการเผาผลาญพลังงานปริมาณมหาศาล เชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการนี้หลายภาคส่วนก็มีการใช้น้ำมันหรือถ่านหินในการจ่ายความร้อน จึงอาจซ้ำเติมปัญหาก๊าซเรือนกระจกและมลพิษให้รุนแรงขึ้นไปอีก

 

           ในขณะที่ปูนซีเมนต์จาดหินแกรนิตนั้นแตกต่าง วัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตไม่มีส่วนประกอบของคาร์บอน จึงแน่ใจได้ว่าตลอดกระบวนการจะไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งในขั้นตอนการผลิตจึงไม่ต้องอาศัยความร้อน ตัดปัญหาในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงโดยสิ้นเชิง

 

           สำหรับต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์หินแกรนิตก็ไม่ใช่ปัญหา โดยพื้นฐานหินแกรนิตจัดเป็นหนึ่งในประเภทหินที่พบได้มากและทั่วไปเกือบทุกมุมโลก สามารถจัดหาเข้าสู่สายการผลิตได้ง่าย ทางบริษัทเองก็ออกมายืนยันว่า ต้นทุนการผลิตปูนชนิดนี้ไม่ต่างจากปูนซีเมนต์ทั่วไป จึงไม่มีปัญหาในการนำมาทดแทน

 

           อีกหนึ่งจุดเด่นของปูนซีเมนต์หินแกรนิตคือใกล้เคียงกับปูนที่มีอยู่ ทั้งในด้านการผสม ก่อตัว ไปจนความทนทาน ทำให้แรงงานภาคการก่อสร้างไม่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจใหม่นัก สามารถใช้ทักษะความชำนาญที่มีอยู่มาใช้ร่วมกับปูนชนิดนี้ได้ตามปกติ โดยแทบไม่เกิดผลกระทบในการทำงาน

 

           ถือเป็นปูนซีเมนต์ที่สามารถนำมาใช้งานในการก่อสร้างได้อย่างไร้รอยต่อ

 

 

 

           ปัจจุบันปูนซีเมนต์หินแกรนิตนี้ได้รับการพัฒนาเสร็จสิ้นอยู่ในช่วงทดสอบการใช้งาน โดยมีการนำปูนชนิดนี้ไปฉาบคอนกรีตร่วมกับการต่อเติมตึก 270 Park Avenue ตึกระฟ้าที่สูงถึง 423 เมตร ในนิวยอร์ก และคาดว่าจะมีการนำไปใช้งานเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

 

           ปูนซีเมนต์หินแกรนิตจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจในการเข้ามาแก้ไขปัญหาจากอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

           ที่มา

 

           https://newatlas.com/environment/carbon-neutral-granite-concrete-nyc-skyscraper/

 

           https://ccretetech.com/