posttoday

ธปท.ชี้ นโยบายรัฐบาลยังไม่สร้างผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจ

03 สิงหาคม 2554

เพียงแต่มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น

เพียงแต่มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น

ระบุพร้อมใช้ทุกเครื่องมือในการดูแลเงินเฟ้อตามความเหมาะสม

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ขึ้นเงินเดือนแรงงานแรกเข้าที่จบชั้นปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดการจัดทำ ทำให้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าแนวนโยบายเหล่านี้จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเพิ่มขึ้น 1% จริงหรือไม่

 

ธปท.ชี้ นโยบายรัฐบาลยังไม่สร้างผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถสรุปชัดเจนได้ว่านโยบายเหล่านี้จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มมาก น้อยแค่ไหน แต่บอกได้เบื้องต้นว่าแนวนโยบายเหล่านี้น่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

“ยังบอกไม่ได้ มันเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายของรัฐบาลจะกระทบอะไรหรือมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร เพราะยังไม่รู้ว่ากรอบการทำหรือแผนงานการทำตามนโยบายเหล่านี้มีรายละเอียดอย่างไร หรือรัฐบาลจะจัดงบ ประมาณขาดดุลเท่าไร จะทำนโยบายที่พูดไว้เมื่อไหร่แน่นอน แต่เราพอจะบอกได้ว่าแนวนโยบายเช่นนี้ มันน่าจะมีผลให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้นจนมีผลกระทบที่ชัดเจน ควรจะรอรายละเอียดการจัดทำที่ชัดเจนเสียก่อน” นางอัจนา กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังของรัฐบาลจะไม่มีปัญหา แม้จะมีการมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่สวนทางกันก็ตาม เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลอยากจะให้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจะกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องถามว่าใครทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจถ้าไม่ใช่ธนาคารกลาง

นางอัจนา กล่าวว่า การที่รัฐบาลอยากเห็นการเติบโตเป็นเรื่องไม่แปลก เพราะรัฐบาลมีอายุการทำงานสั้น ย่อมต้องการทำให้เห็นผลงาน แต่ธนาคารกลางต้องอยู่ตลอดไป จึงจำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งแนวทางการทำงานของทั้งสองหน่วยงาน ท้ายที่สุดย่อมมีการหารือทำความเข้าใจร่วมกันต่อไป

สำหรับการดูแลเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้ ธปท.ได้ใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีในการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการทำงานเพื่อดูแลเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ ธปท.จะเลือกใช้ต้องเป็นเครื่องมือที่คาดการณ์ประสิทธิภาพและควบคุมได้ ซึ่งดอกเบี้ยควบคุมได้ ส่วนการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ถึงบางที ธปท.จะพอใจที่ค่าเงินบาทแข็งแล้วช่วยลดเงินเฟ้อบ้าง แต่ก็ไม่ได้บอกว่า ธปท.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดูแลเงินเฟ้อ เพราะเครื่องมือทางการเงินเราต้องควบคุมได้

“อัตราแลกเปลี่ยนควบคุมไม่ได้ มันขึ้นกับกลไกการตลาด อุปสงค์และอุปทาน ซึ่งทุกเครื่องมือ ธปท.จะดูความเหมาะสมของการใช้ ยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่ว่าจะอัตราแลกเปลี่ยน หรือการให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองเพิ่มอย่างจีน” นางอัจนา กล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ไม่ได้ห่วงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์มากมายอย่างที่ต่างชาติระบุ เท่าที่ติดตามดูภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณรุนแรงในลักษณะน่าเป็นห่วง