posttoday

ก๊อกสอง พรบ.ปรองดองเร่งปิดเกม'นิรโทษกรรม'

30 เมษายน 2555

ทิศทางสู่ “ปรองดอง” เพื่อผลักดัน “นิรโทษกรรม” ค่อยๆ ไต่ระดับสู่จุดหมายปลายทาง ตามเส้นทางที่รัฐบาลวางเอาไว้

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ทิศทางสู่ “ปรองดอง” เพื่อผลักดัน “นิรโทษกรรม” ค่อยๆ ไต่ระดับสู่จุดหมายปลายทาง ตามเส้นทางที่รัฐบาลวางเอาไว้ ด้วยท่าทีที่ยังรวบรัดต่อเนื่อง ผ่านทุกกลไกที่ขยับสอดรับกันอย่างเป็นระบบ

หลังเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “สะดุด” จากเดิมที่เคยวางไว้เป็นแกนขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย โดยใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาลุยแก้ไขมาตรา 291 เปิดทางให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป เวลานี้แต่ทำไปทำมาเริ่มจะกลายเป็นหนังยาวและอาจพังทลายได้ในพริบตา

เพราะจากความลุกลี้ลุกลนต้องการทำให้เสร็จตามตารางที่เคยขีดเส้นให้ทันวาระ 2 ในช่วงสงกรานต์ สอดรับกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาโหมกระแสครั้งใหญ่ให้เสื้อแดงและ สส.เพื่อไทย ได้รดน้ำดำหัวที่ประเทศลาวและกัมพูชา

แต่ความพยายามรวบรัดกลับกลายเป็นต้นตอให้เกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนเอกสาร กระบวนการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ จนถึงขั้นที่ฝ่ายค้านและ สว.บางส่วนเตรียมนำประเด็นความผิดพลาดไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ซ้ำเติมด้วยปมปัญหาเรื่องกดบัตรลงคะแนนแทนกันที่ทั้ง สว.-สส.ฝ่ายค้าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำมาคลิปมาเปิดเผย และอยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งหากเรื่องนี้พบว่ามีการกดบัตรแทนกันจริง ย่อมสุ่มเสี่ยงทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหา

เวลานี้รัฐบาลเพื่อไทยจึงไม่อาจดึงดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำต้องยอมปล่อยไปตาม “เกมยื้อ” ของประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้ลากยาวในวาระ 2 มานานกว่า 8 วัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้

ก๊อกสอง พรบ.ปรองดองเร่งปิดเกม\'นิรโทษกรรม\'

ทางออกเดียวที่ทำได้ คือ ต้องผ่อนไปตามกระจังหวะที่วิป 4 ฝ่าย ร่วมกันหารือไปรายมาตรา ว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทานเพิ่มเติม ปล่อยให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกรอบการพิจารณาที่รัฐบาลเสนอขอขยายเวลาปิดสมัยประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แต่ดูสัญญาณเวลานี้ แม้เสียงข้างมากจะดึงดันจนผ่านวาระ 2 และเว้นไว้ 15 วัน ก่อนจะลงมติในวาระ 3 จนนำไปสู่กระบวนการ “เลือกตั้ง” และ “สรรหา” ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ขึ้นมาทำหน้าที่ย่อมกินเวลานานหลายเดือน และกว่าที่ ส.ส.ร.จะได้เริ่มเข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

พ.ร.บ.ปรองดองที่รัฐบาลเคย “พักยก” ไว้ชั่วคราวจึงกำลังถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกรอบเพื่อเสนอเข้ามาในจังหวะนี้ โดยอาศัยกรอบเวลาประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ที่รัฐบาลขยายปิดสมัยประชุมแบบไม่มีกำหนด ให้เข้ามาสู่การพิจารณาในสมัยนี้คู่ขนานไปพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ท่าทีผ่านมา พ.ร.บ.ปรองดองเคยถูกจุดประเด็นผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน โดยอิงงานวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าบางส่วนมาเป็นแกนขับเคลื่อนเวลานี้ขั้นตอนในชั้น กมธ.เสร็จสิ้นส่งไม้ต่อให้รัฐบาลไปดำเนินการต่อ

แต่ด้วยแรงเสียดทานที่เร่งเดินหน้าโดยไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ที่เห็นควรให้จัดเวทีสานเสวนารับฟังความเห็นของประชาชน จนสถาบันพระปกเกล้าขู่ถอนงานวิจัยไม่ให้ กมธ.นำไปใช้ ทำให้รัฐบาลไม่อาจเร่งเดินหน้าต่อในทันที

ทางเลือกถัดมา คือ ความพยายามใช้กระบวนการ สส.พรรคเพื่อไทย 20 คน เข้าชื่อเป็นคนเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งที่ผ่านมา ประชา ประสพดี สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เคยออกมายอมรับว่า พรรคเพื่อไทยได้วางโครงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่รายละเอียดเล็กน้อย

เนื้อหาสาระสำคัญคร่าวๆ คือ ย้อนไปก่อนเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง 19 ก.ย. 2549 ไปจนถึงเหตุการณ์สืบเนื่องหลังรัฐประหาร ให้เข้ามาสู่กระบวนการ “ปรองดอง” พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว

เป้าหมายสำคัญที่ให้ สส.เพื่อไทย เป็นคนริเริ่มกระบวนการแทน “รัฐบาล” เนื่องจากไม่ต้องการให้ “เผือกร้อน” นี้ถูกโยงใยไปถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย จะได้รับประโยชน์จากกระบวนการนี้ไปเต็มๆ

แต่ล่าสุดมีกระแสว่า กระบวนการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง กำลังจะถูกนำเสนอโดยจาก สส.ใน กมธ.ปรองดอง โดยมี “บิ๊กบัง” เป็นโต้โผนำเสนอเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาด้วยตัวเอง ร่วมกับการเข้าชื่อของ สส. 20 คน เพื่อให้ตัดตอนความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ที่คนในพรรคส่วนหนึ่งอาจได้ประโยชน์จากกระบวนการปรองดองทั้งทางตรงและทางอ้อม

เนื้อหาสำคัญยังอิงตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า 2 ข้อหลัก ที่ให้ใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือในชื่อ พ.ร.บ.ปรองดอง นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และโละคดีของ คตส.ทั้งที่ตัดสินแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา

เส้นทางนี้จึงน่าจะทำให้เส้นทางสู่นิรโทษกรรมเป็นรูปเป็นร่างได้เร็วที่สุด และมีแรงเสียดทานน้อยที่สุดในตัวเลือกที่มีอยู่

ระหว่างนี้รัฐบาลก็เพียงแค่ประคองสถานการณ์ ไต่ระดับความปรองดองไปเรื่อยๆ ดังจะเห็นจากการไม่หักหาญใช้เสียงข้างมากลากไปในสภาผู้แทนราษฎร หรือที่ประชุมรัฐสภา

อีกด้านหนึ่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยังเร่งเครื่องลดความขัดแย้งนำ ครม.เข้าอวยพร “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรี

ปล่อยให้ กมธ.ปรองดองที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นคนกลางเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองต่อไป โดยมีเสียงข้างมากจากพรรคเพื่อไทยช่วยคัดท้ายให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในเร็วๆ นี้