แร็ปพี่เอ้ เข้าใจ เข้าถึง
ยุคนี้เป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตให้ความรู้ดีกว่า เร็วกว่าครู แต่ที่ยังทดแทนไม่ได้ คือ ความเป็นครู ผู้เข้าใจ และเข้าถึง
ยุคนี้เป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตให้ความรู้ดีกว่า เร็วกว่าครู แต่ที่ยังทดแทนไม่ได้ คือ ความเป็นครู ผู้เข้าใจ และเข้าถึง
************************
โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.
คลิปมือถือธรรมดาที่อธิการบดี “พี่เอ้” และทีมคณบดีขึ้นเวทีร้องเพลงแร็ปแนะนำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กลายเป็นคลิปที่มีคนให้ความสนใจดูตามโซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ล้านครั้งภายในไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เกิดเป็นปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์อีกครั้ง ในเทศกาลปฐมนิเทศนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ “พี่เนียน” ที่พี่เอ้ปลอมเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง แบบเนียนๆ ในวันปฐมนิเทศเช่นกัน เมื่อปี 2558
การปฐมนิเทศทุกปีจะเริ่มตั้งแต่ตี 4 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่ออาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่ไปรอต้อนรับน้องนักศึกษาปีหนึ่ง หรือ “น้องเฟรชชี่” แล้วพากันนั่งรถไฟจากหัวลำโพงเดินทางสู่สถานีพระจอมเกล้า ซึ่งถือเป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์หน้าสถาบัน ตามประเพณี “รับน้องรถไฟ” ของ สจล.น้องเฟรชชี่ลงรถไฟด้วยความตื่นเต้น เมื่อเห็นอาจารย์และรุ่นพี่จากทุกคณะตั้งแถวกันตีกลอง ร้องเพลง เต้น เชียร์กันดังสนั่นแน่นขนัดทั้งสถานี จากนั้นจะพาน้องเดินเรียงแถวข้ามสะพานลอยยักษ์ หรือสกายวอล์ก เข้าสู่หอประชุม เพื่อสมทบกับเพื่อนเฟรชชี่ที่มีมากกว่า 6,000 คน
เพลงสถาบันร้องขึ้นอย่างกึกก้อง ฮึกเหิม ก่อนผู้บริหารทุกคณะขึ้นบนเวทีทรงกลมใจกลางหอประชุม เปรียบเหมือนเกสรดอกไม้ที่ล้อมด้วยกลีบดอกทีละชั้นเป็นแถวนักศึกษาคละคณะกัน รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาขึ้นกล่าวต้อนรับสั้นๆ ก่อนที่แสงไฟจะหรี่ลง...
และแล้วเสียงเพลงจังหวะแร็ปดังขึ้น อธิการบดีพี่เอ้สวมเสื้อแจ็กเกตสุดจ๊าบลายหงส์คู่มังกร สวมหมวกแก๊ป และแว่นตาแนวแร็ปเปอร์ หยิบไมค์ร้องเพลงทันที พร้อมทั้งคณบดีคณะวิศวะ คณะสถาปัตย์ และวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต เต้นแร็ป ร้องแร็ปขึ้นสู่เวที ขณะที่เสียงกรี๊ดของเฟรชชี่ดังสนั่นทั้งหอประชุม จนแทบกลบเสียงดนตรี เมื่อจบเพลงพี่เอ้ถอดแจ็กเกต กลับมาเป็นอธิการบดีให้โอวาทนักศึกษา ให้รู้รักสามัคคี ไม่มีสาขา ไม่มีคณะ ไม่มีมหาวิทยาลัย มีแต่เพื่อสังคมไทย และต้องมีวินัยในการเรียน
ที่จริงแล้วผมมิได้คาดฝันเลยว่า สังคมไทยจะให้ความสนใจกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยมากขนาดนี้ อาจจะสะท้อนถึงความรู้สึกอยากเห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ในวงการศึกษาไทย หรืออยากเห็นเด็กมหาวิทยาลัยเป็น “ความหวัง” ของประเทศ ด้วยทุกคนคงรู้ว่าเด็กรุ่นใหม่ถึงแม้จะเก่งและคล่องตัวกว่า เพราะเข้าถึงเทคโนโลยี สื่อและข้อมูลต่างๆ ได้มากกว่ายุคก่อน แต่ก็รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง จึงอาจจะเอาใจยาก มีความอดทนต่ำ สมาธิไม่ยาว การเป็นครูในสมัยนี้จึงยากกว่าสมัยก่อนอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
แล้วยิ่งหากคนเป็น “ครู” ไม่ยอมปรับตัว ยังใช้วิธีการแบบเดิม กระบวนการเดิมที่ก้าวข้ามไปไม่พ้น หรือคิดว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องมุ่งเน้นด้านวิชาการและวิชาชีพเท่านั้นคงคิดผิด เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงมามากมาย มีวิสัยทัศน์ว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงโรงเรียนสอนหนังสือ แต่เป็นบ้านที่ต้องสร้างคนดี สร้างผู้นำออกสู่สังคมโลก จึงมุ่งให้ความสำคัญกับกิจกรรมนักศึกษามากเท่ากับเรื่องการเรียน การสอน และการวิจัย
ดังนั้น การร้องแร็ปของอธิการบดีพี่เอ้ จึงไม่ใช่เพียงเรื่องสนุก สร้างสีสันให้แก่น้องใหม่ แต่เป็นเรื่องการ “เข้าใจ” ที่ครู และผู้บริหารการศึกษา ต้องปรับตัว เพราะวันนี้ครูไม่ใช่เป็นแค่ผู้สอน หรือ Teacher แต่ต้องเป็นพี่เลี้ยง หรือ Mentor และยังต้องเป็นทั้งพี่และเพื่อน ที่เด็กนักศึกษา“เข้าถึง” และสัมผัสได้ แลกเปลี่ยนความคิดได้
ยุคนี้เป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตให้ความรู้ดีกว่า เร็วกว่าครูอย่างพวกเรา แต่ที่ยังทดแทนไม่ได้ คือ ความเป็นครู ผู้เข้าใจ และเข้าถึงเท่านั้นเอง